วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2556

ระดับภาษาและการใช้ภาษาที่ถูกต้อง

ระดับภาษาและการใช้ภาษาที่ถูกต้อง


ระดับของภาษา หมายถึง ความลดหลั่นของถ้อยคำและการเรียบเรียงถ้อยคำที่ใช้โดยพิจารณาตาม โอกาส หรือ กาลเทศะ ความสัมพันธ์ ระหว่างบุคคลที่เป็นผู้สื่อสาร และ ตามเนื้อหาที่สื่อสาร
                การศึกษาเรื่องระดับของภาษาเป็นสิ่งสำคัญเพราะทำให้บุคคลแต่ละกลุ่มเข้าใจภาษาของกันและกัน ไม่เกิดปัญหาด้านการสื่อสาร และความสัมพันธ์ ระหว่างบุคคล รวมทั้งยังทำให้ผู้ศึกษาได้เข้าใจถึงลักษณะเฉพาะและวิวัฒนาการของภาษาไทยอีกด้วย
                การศึกษาเรื่องระดับภาษาอาจพิจารณาได้หลายวิธีตามหลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น พิจารณาตามฐานะของบุคคล ตามเนื้อหา และตามกาลเทศะที่สื่อสาร

                ในที่นี้จะกล่าวถึงการพิจารณาระดับภาษา  ตามกาลเทศะ / โอกาส ในการใช้ภาษา เพื่อให้ผู้ใช้ภาษาสามารถเลือกใช้ภาษา ในสถานการณ์ ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม

(๑)     ภาษาแบบเป็นทางการ  ภาษาที่ใช้อย่างเป็นทางการมีลักษณะเป็นพิธีการ ถูกต้องตาม
แบบแผนของภาษาเขียน  แบ่งออกเป็น
                               (๑.๑)  ภาษาระดับพิธีการ เป็นภาษาที่สมบูรณ์แบบ รูปประโยคถูกต้องตามหลัก
ไวยากรณ์ มีความประณีต งดงาม อาจใช้ประโยคที่ซับซ้อนและใช้คำระดับสูง ภาษาระดับนี้จะใช้ในโอกาส สำคัญ ๆ เช่น งาน ราชพิธี วรรณกรรมชั้นสูง เป็นต้น
                               (๑.๒) ภาษาระดับมาตรฐานราชการ หรือ อาจเรียกว่า ภาษาทางการ / ภาษาราชการ เป็นภาษาที่สมบูรณ์แบบ รูปประโยคถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ เน้นความชัดเจน ตรงประเด็นเป็นสำคัญ ใช้ในโอกาส สำคัญ ที่เป็นทางการ เช่นหนังสือราชการวิทยานิพนธ์ รายงานทางวิชาการ การกล่าวปราศรัย การกล่าวเปิดงานสำคัญ ๆ เป็นต้น
(๒)  ภาษาแบบไม่เป็นทางการ  ภาษาที่ไม่เคร่งครัดตามแบบแผน มักใช้ในการสื่อสารทั่วไป
ในชีวิตประจำวัน หรือ โอกาสทั่วๆ ไปที่ไม่เป็นทางการ แบ่งเป็น
                (๒.๑) ภาษาระดับกึ่งทางการ  เป็นภาษาที่ยังคงความสุภาพแต่ไม่เคร่งครัดแบบภาษาทางการบางครั้งอาจใช้ภาษาระดับสนทนามาปนอยู่ด้วย มันใช้ในการติดต่อธุรกิจการงาน หรือใช้สื่อสารกับบุคคลที่ไม่คุ้นเคย หรือ มีคุณวุฒิ และ วัยวุฒิสูงกว่า หรือการบรรยาย การประชุมต่างๆ รวมทั้งใช้ในงานเขียนที่ไม่เป็นทางการเพื่อให้งานเขียนนั้นดูไม่เครียดจนเกินไป   เช่น       สารคดี บทวิจารณ์ เกี่ยวกับบันเทิงคดีต่างๆ เป็นต้น
                (๒.๒) ภาษาระดับสนทนา  เป็นภาษาที่ใช้สนทนาโต้ตอบกับบุคคลที่รู้จักในสถานทหรือเวลาที่ไม่เป็นการส่วนตัว หรือสนทนากับบุคคลที่ยังไม่คุ้นเคย รวมทั้งใช้เจรจาซื้อขายทั่วไป และการประชุมที่ไม่เป็นทางการ ภาษาที่ใช้มักมีรูปประโยคง่ายๆ ที่สามารถเข้าใจทันที แต่ยังคงความสุภาพ เช่น ภาษาที่ใช้ในการรายงานข่าวโทรทัศน์ การเจรจาในเชิงธุระทั่วไป เป็นต้น

                (๒.๓) ภาษาระดับกันเองหรือภาษาปาก  เป็นภาษาพูดที่ใช้สนทนากับบุคคลที่สนิทคุ้นเคยมักใช้สถานที่ส่วนตัว หรือ ในโอกาสที่ต้องการความสนุกสนานครื้นเครง หรือ การทะเลาะวิวาท ภาษาที่ใช้เป็นภาษาพูดที่ไม่เคร่งครัด อาจมีคำตัด คำสแลง คำต่ำ คำหยาบปะปน โดยทั่วไปไม่นิยมใช้ในภาษาเขียน ยกเว้นงานเขียนประเภท เช่น เรื่องสั้น นวนิยาย ภาษาข่าวหนังสือพิมพ์ การเขียนบทละคร ฯลฯ

การใช้ภาษาผิดระดับย่อมก่อให้เกิดอุปสรรคในการสื่อสาร ผู้รับสารอาจเห็นว่าผู้ส่งสารไม่รู้จักกาลเทศะขาดความจริงใจ เสแสร้ง  การแบ่งภาษาออกเป็นระดับต่างๆ นั้นมิได้แบ่งกันอย่างเด็ดขาด ภาษาระดับหนึ่งอาจเหลื่อมล้ำกับภาษาอีกระดับหนึ่ง หรือใช้ปะปนกันได้ การพิจารณาระดับภาษาระดับภาษาอาจต้องพิจารณาจากข้อความโดยรวมในการสื่อสารนั้น


ตัวอย่างการใช้ภาษาระดับต่าง ๆ
(๑)          ...ขอพระบรมเดชานุภาพมหึมาแห่งสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราช จงคุ้มครองประเทศชาติและประชาชาวไทยให้ผ่านพ้นสรรพอุปัทวพิบัติทั้งปวง อริราชศัตรูภายนอกอย่าล่วงเข้าทำอันตรายได้ ศัตรูหมู่พาล    ภายในให้วอดวายพ่ายแพ้ภัยตัว บันดาลความสุขความมันคงให้บังเกิดทั่วภูมิมณฑล บันดาลความร่มเย็นแก่ อเนกนิกรชนครบคามเขตขอบขัณฑสีมา...                                     
  (ภาวาส บุนนาค, ราชาภิสดุดี. ในวรรณลักษณวิจารณ์เล่ม ๒ หน้า ๑๕๙.)

(๒)  ...   บทละครไทยเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของวรรณกรรมไทยเป็นวรรณกรรมที่ประพันธ์ขึ้นทั้งเพื่ออ่านและเพื่อแสดงรูปแบบที่นิยมกันมาแต่เดิมคือบทละครรำต่อมามีการปรับปรุงละครรำให้ทันสมัยขึ้นตามความนิยมแบบตะวันตกจึงมีรูปแบบใหม่เกิดขึ้น ได้แก่ ละครดึกดำบรรพ์ ละครพันทาง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการรับรูปแบบละครจากตะวันตกมาดัดแปลงให้เข้ากับสังคมไทยและวัฒนธรรมไทย ทำให้การละครไทยพัฒนาขึ้นโดยมีกระบวนการแสดงที่แตกต่างไปจากละครไทยที่มีอยู่มาเป็นละครร้อง ละครพูดและละครสังคม”
(กันยรัตน์ สมิตะพันทุ,  การพัฒนาตัวละครในบทละครพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ในบทความ วิชาการ ๒๐ ปี ภาควิชาภาษาไทย หน้า ๑๕๘)

(๓) ...   ฉะนั้นในช่วงเรียนอยู่ระดับมัธยม ผู้ที่ขยันมุ่งมั่นจะเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้จะไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบกายทั้งสิ้นยกเว้นสิ่งที่เขาคิดว่าจะสามารถทำให้เขาสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ชีวิตนักเรียนมัธยมจึงมีแต่ติวติวและติว กีฬาฉันไม่เล่น กิจกรรมฉันไม่มีเวลาทำ และยิ่งห้องสมุดฉันไม่ทราบว่าจะเข้าไปทำไมเพราะเวลาทั้งหมดจะต้องใช้ท่องตำราอย่างเดียวแล้วก็มักจะประสบความสำเร็จตามที่คิดเสียด้วย คือ สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้...”
(เปล่งศรี  อิงคนินันท์     ต้องขอให้อาจารย์ช่วย  ก้าวไกล ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๔ หน้า ๒๗)

(๔)   “...จากกรณีที่หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ  เกจิดังแห่งวัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน  อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมาได้อาพาธลงอย่างกะทันหัน มีอาการอ่อนเพลียอย่างหนักเนื่องจากต้องตรากตรำทำพิธีปลุกเสกวัตถุมงคลและเคาะหัวให้กับบรรดาศิษยานุศิษย์จนไม่มีเวลาพักผ่อนเกิดอาการหน้ามืดจนกระทั่งลูกศิษย์ต้องหามส่งโรงพยาบาลมหาราชนายแพทย์เจ้าของไข้ได้ตรวจร่างกายแล้วแจ้งให้ทราบว่าเป็นไข้หวัด”                                                         (เดลินิวส์ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๙)
(๕) ....   มึงจะไปไหนไอ้มั่นกูสั่งให้ปล่อยมันไว้อย่างนั้นไม่ต้องสนใจกูอยากนั่งดูมันมองมันตายช้าๆเลือดไหลออกจนหมดตัวและหยุดหายใจในที่สุดถึงจะสมกับความแค้นของกู
(วราภา,  นางละคร,   สกุลไทย ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๑๖๒ หน้า ๑๐๗)

(๖) ...   บิ๊กจา เตรียมเดินเครื่องวางงานกีฬายาวจะเสนอเป็นคณะกรรมาธิการวุฒิสภาการกีฬาดันงบหนุนซีเกมส์ เอเชียนเกมส์  กับความเป็นเจ้าเหรียญทองส่วนสมาคมตะกร้อว่าแตกเป็นเสี่ยงให้พิสูจน์กันในตะกร้อคิงส์คัพหนที่ ๑๒ ใครผลงานดีได้พิจารณามาทำทีมชาติ”
(เดลินิวส์ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๙)


ภาษาพูด-ภาษาเขียน

การศึกษาระดับภาษาอาจพิจารณาในด้านรูปแบบของการสื่อสารสามารถแบ่งภาษาเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆคือภาษาพูด และภาษาเขียน
(๑)     ภาษาพูด หมายถึง ภาษาที่มักใช้สื่อสารทางวาจาในชีวิตประจำวัน หรืออาจใช้งานเขียนที่
ไม่เป็นทางการ เช่นบทความวิจารณ์ข่าว ข่าวบันเทิง ข่าวกีฬา หรือในวรรณกรรมประเภทต่าง ๆ
* ภาษาพูดสามารถเลือกใช้ถ้อยคำได้หลายระดับขึ้นกับโอกาสที่พูดและฐานะชองบุคคลที่
   สื่อสารด้วยแต่จะไม่เคร่งครัดมากนัก
* ระดับภาษาที่จัดเป็นภาษาพูด ได้แก่ ระดับสนทนา ภาษาระดับกันเอง
(๒)  ภาษาเขียน หมายถึง ภาษาที่เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐาน สามารถนำมา
อ้างอิงได้ภาษาเขียนที่ใช้ในงานเอกสารที่เป็นทางการจะใช้ภาษาที่เป็นมาตรฐาน (ภาษาทางการ)ยึดหลักการใช้ภาษาที่ถูกต้อง อ่านเข้าใจง่าย และไม่นำภาษาพูดมาปะปนผู้เขียนควรขัดเกลาถ้อยคำสำนวนให้ถูกต้องชัดเจนและสมบูรณ์
* ระดับภาษาที่จัดเป็นภาษาเขียน ได้แก่ ภาษาระดับพิธีการ ระดับมาตรฐานราชการ
* ภาษาระดับกึ่งทางการ อาจจัดเป็นภาษาเขียนที่ไม่เคร่งครัดนัก หรือจัดเป็นภาษาที่ ค่อนข้างเป็นทางการหรือใช้ในโอกาสสำคัญ


หลักการใช้ภาษาที่ถูกต้อง

ภาษาใช้ในการสื่อสารที่เป็นทางการควรใช้ภาษาเขียนในระดับทางการ โดยต้องหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาพูด และต้องคำนึงถึงความถูกต้องเรื่องความหมาย และแบบแผนการใช้ภาษาทั้งในด้านการใช้คำและประโยค เน้นความถูกต้อง  กระชับ  ชัดเจน  ตรงประเด็น
( ๑ )  การใช้คำ  การใช้คำต้องพิจารณาให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ ความหมาย และระดับของคำนั้นๆ
 (๒) การใช้ประโยค   การใช้ประโยชน์ต้องพิจารณาให้ประโยคที่ใช้นั้นถูกต้อง กะทัดรัด ชัดเจน และสละสลวย และลำดับคำในประโยคถูกต้อง


ตัวอย่างการใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้อง
๑.คนพาลนั้นถ้าเลี่ยงได้เราควรจะเลี่ยงเสียในกรณีที่เลี่ยงได้
๒. คนยากจนที่ขัดสนเงินทองย่อมต้องทำงานหนัก
๓. คนที่จับเชือกควรจะเป็นคนสาว
๔. เขาไม่ชอบทานข้าวเย็น
๕. ส่วนผสมมีแป้ง มัน น้ำตาล ทราย เกลือสีผสมอาหารและไข่ไก่
๖. เราไปเยี่ยมคนเจ็บด้วยกัน เมื่อไปถึงคนไข้อาการดีขึ้นแล้ว
๗.  เขาถูกมองอย่างดูถูกจากเพื่อนๆ
๘. เขาเข้ามาในห้องพร้อมกับหนังสือ
๙. การเรียนวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารนั้น ต้องเข้าใจหลักพื้นฐานของการสื่อสาร ได้แก่ ทักษะการฟัง ทักษะการพูด  ทักษะการเขียน และทักษะการอ่าน
๑๐. องค์การโทรศัพท์กำลังปรับปรุงการบริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน
๑๑. ฉันรู้สึกเหงาและเมื่อฉันรู้จักเพื่อนๆมากขึ้นฉันรู้สึกอุ่นใจ
๑๒. เนื่องจากรถของฉันเสียและฉันต้องนั่งรถไฟฟ้ามาทำงาน
๑๓. วัดนี้มีพระภิกษุจำพรรษา ๑๒ องค์
๑๔. สองนักโทษถูกประหารชีวิตเมื่อวานนี้
๑๕. ถ้าเราพลาดไปนิดเดียว เราก็จะเกิดการเสียใจ
๑๖. รถค่อยๆเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว
๑๗. ทุกๆวันฉันต้องไปขึ้นเรือที่ท่าน้ำสี่พระยาและลงที่วังหลัง
๑๘. แม่ค้าหาบเร่ตั้งของขายขัดขวางการจราจร
๑๙. พุทธศาสนาเป็นเครื่องหน่วงเหนี่ยวจิตใจของประชาชน
๒๐. ในห้องนี้มีคนอยู่กันแน่นหนามาก
๒๑.วันนี้ดวงสุริยาขึ้นพ้นขอบฟ้าเวลา o๔.๓๖
๒๒.คุณปู่เจ็บหนักมานานแล้วเราคาดหวังกันว่าท่านคงอยู่ได้อีกไม่นาน
๒๓.เจ้ามองของแก่พระภิกษุ
๒๔.สตรีแต่ละคนนั้นมีท่าทีที่เข้มแข็งและเป็นนักสู้ไม่แพ้ผู้ชาย
๒๕. นักศึกษาส่วนมากมาสายทุกคน
๒๖. สุนัขของผมเขาชอบทานอาหารกระป๋อง
๒๗.วันนี้จะมีการชิงอีก ๒๐ เหรียญทอง ที่ผ่านมาไทยได้มาถึง ๑๘ เหรียญทอง
๒๘. ฉันมีน้องชายอายุอ่อนกว่าฉันคนหนึ่ง
๒๙.แสงอาทิตย์ให้ความอบอุ่นกับเราตลอดเวลา
๓๐. รัฐบาลสร้างอนุสาวรีย์ให้แก่ทหารที่เสียชีวิตในวัดพระศรีมหาธาตุ
๓๑. ราคาสินค้าในตลาดขึ้นฮวบฮาบ
๓๒. ปัจจุบันโคราชเป็นจังหวัดเจริญที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
๓๓.นักธุรกิจเหล่านี้ทำยังไงถึงได้ร่ำรวยอย่างนี้
๓๔. นักศึกษาที่เป็นนักกิจกรรมควรจะมีการแบ่งเวลาในการเรียนและการทำกิจกรรมให้เหมาะสมด้วย และควรที่จะมีความขยันในการอ่านหนังสือให้มากกว่านักศึกษาธรรมดาอีกด้วย
๓๕.การเคารพพระรัตนตรัยคือการยึดมั่นในพระธรรม คำสั่งสอน พระพุทธคุณ และพระสังฆคุณ


******************************

ชนิดและหน้าที่ของประโยค

ชนิดและหน้าที่ของประโยค




ความหมายและส่วนประกอบของประโยค

ความหมายของประโยค
ประโยค เกิดจากคำหลายๆคำ หรือวลีที่นำมาเรียงต่อกันอย่างเป็นระเบียบให้แต่ละคำมีความสัมพันธ์กัน มีใจความสมบูรณ์ แสดงให้รู้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เช่น สมัครไปโรงเรียน ตำรวจจับคนร้าย เป็นต้น

ส่วนประกอบของประโยค
ประโยคหนึ่ง ๆ จะต้องมีภาคประธานและภาคแสดงเป็นหลัก และอาจมีคำขยายส่วนต่าง ๆ ได้

1. ภาคประธาน
ภาคประธานในประโยค คือ คำหรือกลุ่มคำที่ทำหน้าที่เป็นผู้กระทำ ผู้แสดงซึ่งเป็นส่วนสำคัญของประโยค ภาคประธานนี้ อาจมีบทขยายซึ่งเป็นคำหรือกลุ่มคำมาประกอบ เพื่อทำให้มีใจความชัดเจนยิ่งขึ้น

2. ภาคแสดง
ภาคแสดงในประโยค คือ คำหรือกลุ่มคำที่ประกอบไปด้วยบทกริยา บทกรรมและส่วนเติมเต็ม บทกรรมทำหน้าที่เป็นตัวกระทำหรือตัวแสดงของประธาน ส่วนบทกรรมทำหน้าที่เป็นผู้ถูกกระทำ และส่วนเติมเต็มทำหน้าที่เสริมใจความของประโยคให้สมบูรณ์ คือทำหน้าที่คล้ายบทกรรม แต่ไม่ใช้กรรม เพราะมิได้ถูกกระทำ

ชนิดของประโยค
ประโยคในภาษาไทยแบ่งเป็น 3 ชนิด ตามโครงสร้างการสื่อสารดังนี้

1. ประโยคความเดียว
ประโยคความเดียว คือ ประโยคที่มีข้อความหรือใจความเดียว ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เอกรรถประโยค เป็นประโยคที่มีภาคประโยคเพียงบทเดียว และมีภาคแสดงหรือกริยาสำคัญเพียงบทเดียว หากภาคประธานและภาคแสดงเพิ่มบทขยายเข้าไป ประโยคความเดียวนั้นก็จะเป็นประโยคความเดียวที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น


2. ประโยคความรวม
ประโยคความรวม คือ ประโยคที่รวมเอาโครงสร้างประโยคความเดียวตั้งแต่ 2 ประโยคขึ้นไปเข้าไว้ในประโยคเดียวกัน โดยมีคำเชื่อมหรือสันธานทำหน้าที่เชื่อมประโยคเหล่านั้นเข้าด้วยกัน ประโยคความรวมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อเนกกรรถประโยค ประโยคความรวมแบ่งใจความออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

2.1 ประโยคที่มีความคล้อยตามกัน ประโยคความรวมชนิดนี้ประกอบด้วยประโยคเล็กตั้งแต่ 2 ประโยคขึ้นไป มีเนื้อความคล้อยตามกันในแง่ของความเป็นอยู่ เวลา และการกระทำ
ตัวอย่าง
ทรัพย์ และ สินเป็นลูกชายของพ่อค้าร้านสรรพพาณิชย์
ทั้ง ทรัพย์ และ สินเป็นนักเรียนโรงเรียนอาทรพิทยาคม
ทรัพย์เรียนจบโรงเรียนมัธยม แล้ว ก็ไปเรียนต่อที่วิทยาลัยอาชีวศึกษา
พอ สินเรียนจบโรงเรียนมัธยม แล้ว ก็ มาช่วยพ่อค้าขาย
สันธานที่ใช้ใน 4 ประโยค ได้แก่ และ, ทั้ง และ, แล้วก็, พอ แล้วก็

หมายเหตุ : คำ แล้วเป็นคำช่วยกริยา มิใช่สันธานโดยตรง

2.2 ประโยคที่มีความขัดแย้งกัน ประโยคความรวมชนิดนี้ ประกอบด้วยประโยคเล็ก 2 ประโยค มีเนื้อความที่แย้งกันหรือแตกต่างกันในการกระทำ หรือผลที่เกิดขึ้น
ตัวอย่าง
พี่ตีฆ้อง แต่ น้องตีตะโพน
ฉันเตือนเขาแล้ว แต่ เขาไม่เชื่อ

2.3 ประโยคที่มีความให้เลือก ประโยคความรวมชนิดนี้ ประกอบด้วยประโยคเล็ก 2 ประโยคและกำหนดให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
ตัวอย่าง
ไปบอกนายกิจ หรือ นายก้องให้มานี่คนหนึ่ง
คุณชอบดนตรีไทย หรือ ดนตรีสากล

2.4 ประโยคที่มีความเป็นเหตุเป็นผลแก่กัน ประโยคความรวมชนิดนี้ประกอบด้วยประโยคเล็ก 2 ประโยค ประโยคแรกเป็นเหตุประโยคหลังเป็นผล
ตัวอย่าง
เขามีความเพียรมาก เพราะฉะนั้น เขา จึง ประสบความสำเร็จ
คุณสุดาไม่อิจฉาใคร เธอ จึง มีความสุขเสมอ

ข้อสังเกต
สันธานเป็นคำเชื่อมที่จ้ำเป็นต้องมีประโยคความรวม และจะต้องใช้ให้เหมาะสมกับเนื้อความในประโยค ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า สันธานเป็นเครื่องกำหนดหรือชี้บ่งว่าประโยคนั้นมีใจความแบบใด
สันธานบางคำประกอบด้วยคำสองคำ หรือสามคำเรียงอยู่ห่างกัน เช่น ฉะนั้น จึง, ทั้ง และ, แต่ ก็ สันธานชนิดนี้เรียกว่า สันธานคาบมักจะมีคำอื่นมาคั่นกลางอยู่จึงต้องสังเกตให้ดี
ประโยคเล็กที่เป็นประโยคความเดียวนั้น เมื่อแยกออกจากประโยคความรวมแล้ว ก็ยังสื่อความหมายเป็นที่เข้าใจได้


3. ประโยคความซ้อน
ประโยคความซ้อน คือ ประโยคที่มีใจความสำคัญเพียงใจความเดียว ประกอบด้วยประโยคความเดียวที่มีใจความสำคัญ เป็นประโยคหลัก (มุขยประโยค) และมีประโยคความเดียวที่มีใจความเป็นส่วนขยายส่วนใดส่วนหนึ่งของประโยคหลัก เป็นประโยคย่อยซ้อนอยู่ในประโยคหลัก (อนุประโยค) โดยทำหน้าที่แต่งหรือประกอบประโยคหลัก ประโยคความซ้อนนี้เดิม เรียกว่า สังกรประโยค
อนุประโยคหรือประโยคย่อยมี 3 ชนิด ทำหน้าที่ต่างกัน ดังต่อไปนี้

3.1 ประโยคย่อยที่ทำหน้าที่แทนนาม (นามานุประโยค) อาจใช้เป็นบทประธานหรือบทกรรม หรือส่วนเติมเต็มก็ได้ ประโยคย่อยนี้เป็นประโยคความเดียวซ้อนอยู่ในประโยคหลักไม่ต้องอาศัยบทเชื่อมหรือคำเชื่อม

ตัวอย่างประโยคความซ้อนที่เป็นประโยคย่อยทำหน้าที่แทนนาม
คนทำดีย่อมได้รับผลดี
คน...ย่อมได้รับผลดี : ประโยคหลัก
คนทำดี : ประโยคย่อยทำหน้าที่เป็นบทประธาน

ครูดุนักเรียนไม่ทำการบ้าน
ครูดุนักเรียน : ประโยคหลัก
นักเรียนไม่ทำการบ้าน : ประโยคย่อยทำหน้าที่เป็นบทกรรม
3.2 ประโยคย่อยที่ทำหน้าที่เป็นบทขยายประธานหรือบทขยายกรรมหรือบทขยายส่วนเติมเต็ม (คุณานุประโยค) แล้วแต่กรณี มีประพันธสรรพนาม (ที่ ซึ่ง อัน ผู้) เชื่อมระหว่างประโยคหลักกับประโยคย่อย
ตัวอย่างประโยคความซ้อนที่ประโยคย่อยทำหน้าที่เป็นบทขยาย

คนที่ประพฤติดีย่อยมีความเจริญในชีวิต
ที่ประพฤติ ขยายประธาน คน
- คน...ย่อมมีความเจริญในชีวิต : ประโยคหลัก
- (คน) ประพฤติดี : ประโยคย่อย

ฉันอาศัยบ้านซึ่งอยู่บนภูเขา
ซึ่งอยู่บนภูเขา ขยายกรรม บ้าน
- ฉันอาศัยบ้าน : ประโยคหลัก
- (บ้าน) อยู่บนภูเขา : ประโยคย่อย
3.3 ประโยคย่อยที่ทำหน้าที่เป็นบทขยายคำกริยา หรือบทขยายคำวิเศษณ์ในประโยคหลัก (วิเศษณานุประโยค) มีคำเชื่อม (เช่น เมื่อ จน เพราะ ตาม ให้ ฯลฯ) ซึ่งเชื่อมระหว่างประโยคหลักกับประโยคย่อย

ตัวอย่างประโยคความซ้อนที่ประโยคย่อยทำหน้าที่เป็นบทกริยาหรือบทขยายวิเศษณ์

เขาเรียนเก่งเพราะเขาตั้งใจเรียน
เขาเรียนเก่ง : ประโยคหลัก
(เขา) ตั้งใจเรียน : ประโยคย่อยขยายกริยา

ครูรักศิษย์เหมือนแม่รักลูก
ครูรักศิษย์ : ประโยคหลัก
แม่รักลูก : ประโยคย่อย (ขยายส่วนเติมเต็มของกริยาเหมือน)





หน้าที่ของประโยค
ประโยคต่างๆ ที่ใช้ในการสื่อสารย่อมแสดงถึงเจตนาของผู้ส่งสาร เช่น บอกกล่าว เสนอแนะ อธิบาย ซักถาม ขอร้อง วิงวอน สั่งห้าม เป็นต้น หากจะแบ่งประโยคตามหน้าที่หรือลักษณะที่ใช้ในการสื่อสาร สามารถแบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ ดังนี้
1. บอกเล่าหรือแจ้งให้ทราบ
เป็นประโยคที่มีเนื้อความบอกเล่าบ่งชี้ให้เห็นว่า ประธานทำกริยา อะไร ที่ไหน อย่างไร และเมื่อไหร่ เช่น
- ฉันไปพบเขามาแล้ว
- เขาเป็นนักฟุตบอลทีมชาติ
2. ปฏิเสธ
เป็นประโยคมีเนื้อความปฏิเสธ จะมีคำว่า ไม่ ไม่ได้ หามิได้ มิใช่ ใช่ว่า ประกอบอยู่ด้วยเช่น
- เรา ไม่ได้ ส่งข่าวถึงกันนานแล้ว
- นั่น มิใช่ ความผิดของเธอ
3. ถามให้ตอบ
เป็นประโยคมีเนื้อความเป็นคำถาม จะมีคำว่า หรือ ไหม หรือไม่ ทำไม เมื่อไร ใคร อะไร ที่ไหน อย่างไร อยู่หน้าประโยคหรือท้ายประโยค เช่น
- เมื่อคืนคุณไป ที่ไหน มา
- เธอเห็นปากกาของฉัน ไหม
4. บังคับ ขอร้อง และชักชวน
เป็นประโยคที่มีเนื้อความเชิงบังคับ ขอร้อง และชักชวน โดยมีคำอนุภาค หรือ คำเสริมบอกเนื้อความของประโยค เช่น
- ห้าม เดินลัดสนาม
- กรุณา พูดเบา

สรุป
การเรียบเรียงถ้อยคำเป็นประโยคความเดียว ประโยคความรวม และประโยคความซ้อน สามารถขยายให้เป็นประโยคยาวขึ้นได้ด้วยการใช้คำ กลุ่มคำ หรือประโยค เป็นส่วนขยาย ยิ่งประโยคมีส่วนขยายหรือองค์ประกอบมากส่วนเพียงใด ก็จะยิ่งทำให้การสื่อสารเกิดความเข้าใจต่อกันมากขึ้นเพียงนั้น ข้อสำคัญ คือ ต้องเข้าใจรูปแบบประโยค การใช้คำเชื่อมและคำขยาย ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงเจตนาในการส่งสารด้วย ผู้มีทักษะในการเรียบเรียงประโยคสามารถพัฒนาไปสู่การเขียน เล่า บอกเรื่องราวที่ยืดยาวได้ตามเจตนาของการสื่อสาร ดังนั้นผู้ใช้ภาษาจึงต้องศึกษาและทำความเข้าใจโครงสร้างประโยค และวิธีการสร้างประโยคให้แจ่มแจ้งชัดเสียก่อนจะทำให้การสื่อสารเกิดประสิทธิผล และสามารถใช้ภาษาสื่อสารให้เกิดความเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น


ชนิดของคำในภาษาไทย

ชนิดของคำในภาษาไทย

  คำไทยแบ่งออกเป็น 7 ชนิด แต่ละชนิดมีลักษณะและหน้าที่แตกต่างกันออกไป การเรียนรู้เรื่องลักษณะของคำเพื่อสร้างเป็นกลุ่มคำและประโยคเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งในการเรียนและการใช้ภาษาในชีวิตประจำวัน     คำแต่ละคำมีความหมาย ความหมายของคำจะปรากฏชัดเมื่ออยู่ในประโยค

           การสังเกตตำแหน่งและหน้าของคำในประโยคจะช่วยให้เราทราบชนิดของคำรวมทั้งความหมายด้วย ดังนั้นการศึกษาให้เข้าใจหน้าที่และชนิดของคำในประโยคจึงมีความสำคัญมากเพราะจะช่วยให้เราสามารถใช้คำได้ถูกต้องตรงตามความหมายที่ต้องการในการใช้ภาษาจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องทราบว่าคำไนมีที่ใช้อย่างไร เพื่อประโยชน์ในการสื่อสาร นักไวยากรณ์ได้สังเกตความหมายและหน้าที่ของคำในประโยค    แล้วจึงแบ่งคำในภาษาไทยออกเป็นชนิดได้ 7 ชนิด คือ

                 1. คำนาม
                 2. คำสรรพนาม
                 3. คำกริยา
                 4. คำวิเศษณ์
                 5. คำบุรพบท
                 6. คำสันธาน
                 7. คำอุทาน


คำนาม

คำนาม คือ คำที่ใช้เรียกชื่อคน สัตว์ วัตถุสิ่งของ สถานที่ต่างๆ ทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม เช่น ความรัก การให้ ความดี ความชั่ว ครู นักเรียน ตำรวจ ทหาร แพทย์ พยาบาล ช้าง ม้า วัว ฃ กวาง นก กุ้ง หอย ปู ปลา ปะการัง โต๊ะ เก้าอี้ นาฬิกา ท้องฟ้า ต้นไม้ น้ำตก ภูเขา บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม วัด เป็นต้น คำนาม แบ่งออกเป็น 5 ชนิด คือ
UploadImage

1.คำนามทั่วไป(สามานยนาม)
คือ คำนามที่ใช้เป็นชื่อทั่วไป หรือคำเรียกสิ่งต่างๆ โดยทั่วไปไม่ชี้เฉพาะเจาะจง เช่น ดินสอ ปากกา ยางลบ กระเป๋า นักเรียน ครู หนังสือ ชิงช้า นักกีฬา สุขภาพ เป็ด นก หมู ช้าง ม้า วัว ควาย พัดลม ทหาร วัด


2.คำนามชี้เฉพาะ(วิสามานยนาม)
คือ คำนามที่เป็นชื่อเฉพาะของ คน สัตว์ สิ่งของ สถานที่หรือเป็นคำเรียกบุคคล สัตว์ สิ่งของ ตลอดจนสถานที่ต่างๆ เพื่อเจาะจงว่าเป็นคนใด สิ่งใด หรือที่ไหน เช่น

คุณสมศักดิ์ คุณอรุณ นายวิมล นางวิชุดา
ชลบุรี นนทบุรี กาญจนบุรี พังแป้น พลายชุมพล วันจันทร์ วันศุกร์
บ้านรื่นฤดี วัดบวรนิเวศ โรงเรียนสงวนหญิง โรงแรมโนโวเทล
หลักภาษาไทยพระยาอุปกิตศิลปสาร สามก๊ก พระไตรปิฎก
วารสารศิลปวัฒนธรรม พลอยแกมเพชร ไทยรัฐ

3.คำนามบอกลักษณะ(ลักษณนาม)
คือ คำนามที่ทำหน้าที่ประกอบนามอื่นๆ เพื่อบอกรูปร่าง ลักษณะ ขนาดหรือปริมาณของนาม มักจะอยู่หลังคำบอกจำนวน และแยกได้เป็นหลายชนิด คือ

ลักษณนามบอกสัณฐาน เช่น วง ตน ใบ ตับ
ลักษณนามบอกการจำแนก เช่น กอง หมวด ฝูง คณะ
ลักษณนามบอกปริมาณ เช่น คู่ โหล กุลี หีบ
ลักษณนามบอกเวลา เช่น นาที วัน เดือน ปี
ลักษณนามบอกวิธีทำ เช่น จีบ ม้วน มัด พับ กำ
ลักษณนามอื่นๆ เช่น พระองค์ รูป ตัวเรื่อง อัน เชือก

4.คำนามบอกหมวดหมู่(สมุหนาม)
คือ คำนามที่บอกหมวดหมู่ของนามข้างหลังที่รวมกันมากๆ เช่น โขลงช้าง ฝูงนก ฝูงปลา คณะครูอาจารย์ คณะนักเรียน คณะสงฆ์ พวกกรรมกร หมู่สัตว์ หมวดศัพท์ ชุดข้อสอบ โรงหนัง แบบทรงผม


5.คำนามบอกอาการ(อาการนาม)
คือ คำนามที่เกิดจากคำกริยาหรือคำวิเศษณ์ที่มีคำว่า"การ"หรือ"ความ"นำหน้า เช่น
ความดี ความชั่ว ความรัก ความสวย ความงาม ความจริง ความเร็ว การเกิด การตาย การเรียน การงาน การวิ่ง การศึกษา



คำสรรพนาม

คำสรรพนาม คือ คำที่ใช้แทนคำนามเพื่อไม่ต้องกล่าวคำนามนั้นซ้ำๆ แบ่งเป็น 7 ชนิด คือ

1.สรรพนามแทนผู้พูด ผู้ฟัง และผู้ที่กล่าวถึง(บุรุษสรรพนาม)
ได้แก่

สรรพนามบุรุษที่ 1 แทนชื่อผู้พูด เช่น ฉัน ดิฉัน อิฉัน ผม กระผม ข้าพเจ้า เรา อาตมา เกล้ากระผม เกล้ากระหม่อม ฯลฯ
สรรพนามบุรุษที่ 2 แทนชื่อผู้ฟัง เช่น คุณ เธอ ท่าน เจ้า แก โยม พระคุณเจ้า ฝ่าพระบาท ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ฯลฯ
สรรพนามบุรุษที่ 3 แทนชื่อผู้กล่าวถึง เช่น มัน เขา ท่าน เธอ แก พระองค์ท่าน ฯลฯ

2.สรรพนามชี้เฉพาะ(นิยมสรรพนาม)
สรรพนามชนิดนี้ใช้แทนนามที่อยู่ใกล้หรือไกลผู้พูด ได้แก่ นี่ นั่น โน่น นี้ นั้น โน้น เช่น
"นี่บ้านกำนัน" "นี่ของใคร"
"นั่นมหาวิทยาลัย" "นั่นนักร้องยอดนิยม"
"โน่นโรงเรียน" "โน่นไงบ้านของฉัน"
"ห้ามนั่งตรงนั้นนะ"

3.สรรพนามใช้ถาม(ปฤจฉาสรรพนาม)
คือ สรรพนามใช้แทนนามในประโยคคำถาม(ต้องการคำตอบ)ได้แก่ ใคร อะไร อย่างไร ผู้ใด สิ่งใด ที่ไหน เช่น

 "ใครมา" "ครต้องการไปกับพวกเราบ้าง"
"อะไรทำให้เขาเปลี่ยนไป" "อะไรอยู่บนโต๊ะ"
"พวกเราต้องทำตัวอย่างไร" "เธอกำลังจะไปไหน"
"ใครจะไปเที่ยวดอยตุงบ้าง" "สิ่งใดน่าจะดีที่สุด"

4.สรรพนามบอกความไม่เจาะจง(อนิยมสรรพนาม)
คือ สรรพนามที่ใช้แทนคำนามที่ไม่กำหนดแน่นอนมักใช้ในประโยคที่มีความหมายแสดง ความไม่แน่นอน ได้แก่คำว่า ใคร อะไร ผู้ใด สิ่งใด ที่ไหน เช่น

 "ครูไม่เห็นใครเลย" "อะไรๆ ก็อร่อยไปหมด"
"อะไรๆ ก็ทานได้" "ใครๆ ก็ขอบความน่ารักของเขา"
"ใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง" "ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนไม่สุขใจเหมือนอยู่บ้าน"

5.สรรพนามบอกความชี้ซ้ำ หรือสรรพนามแบ่งพวก รวมพวก (วิภาคสรรพนาม)
คือ สรรพนามที่ใช้แทนคำนามเพื่อแยกนามออกเป็นส่วนๆ หรือบอกให้รู้ว่ามีนามอยู่หลายส่วนและแสดงกริยาร่วมกันหรือต่างกัน ได้แก่คำว่า ต่าง บ้าง กัน เช่น

 "นักเรียนบ้างก็อ่านหนังสือบ้างก็นอนหลับ"
"ผู้คนต่างแย่งชิงกันเข้าชมการแข่งขันเทนนิส"
"นักกีฬาต่างแสดงฝีมือเต็มที่"
"ทุกคนต่างมีหน้าที่ของตนเอง"
"เขาทั้งสองคนนั้นรักกันจริง"
"ชาวบ้านบ้างก็ทำนา บ้างก็ทำสวน บ้างก็เลี้ยงสัตว์"
"พี่กับน้องทะเลาะกัน"

6.สรรพนามเชื่อมประโยค(ประพันธสรรพนาม)
คือ สรรพนามที่ทำหน้าทแทนนามข้างหน้าและเชื่อมประโยคให้มีความเกี่ยวพันกัน ได้แก่คำว่า ที่ ซึ่ง อัน เช่น 

"บุคคลที่ประพฤติดีทั้งต่อหน้าและลับหลังย่อมเป็นที่รักของคนทั่วไป"
"ผมชอบเสื้อที่คุณแม่ซื้อให้"
"ฉันได้รับจดหมายซึ่งเธอส่งมาให้ทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษแล้ว"
"ครูให้รางวัลนักเรียนซึ่งเรียนดี"
"บทเพลงอันไพเราะได้รับรางวัล"
"ชัยชนะอันได้มาอย่างยากยิ่งครั้งนี้จะอยู่ในความทรงจำของเราตลอดไป"
"บุคคลที่ประสงค์ร้ายต่อชาติถูกตำรวจจับ"

7.สรรพนามใช้เน้นนามที่อยู่ข้างหน้า
คือ สรรพนามที่มักเรียงไว้หลังคำนามเพื่อเน้นนามที่อยู่ข้างหน้าและยังช่วยแสดง ความรู้สึกของผู้พูดด้วย อาจเป็นความรู้สึกในเชิงยกย่อง คุ้นเคย ดูหมิ่น เกลียดชัง หรือความรู้สึกอื่นๆ เช่น 

"คุณยายท่านเป็นห่วงหลานๆ มาก" (ยกย่อง)
"เพื่อนๆ ของลูกเขาจะมาสนุกกัน" (คุ้นเคย)
"คุณฉวีวรรณเธอชอบเล่นดนตรีไทย" (คุ้นเคย)
"ระวังมนุษย์เจ้าเล่ห์มันจะฉวยโอกาส" (เกลียดชัง)

คำกริยา

คำ กริยา คือ คำแสดงอาการของคำนามหรือสรรพนาม หรือคำบอกสภาพที่เป็นอยู่ เช่น "น้องทำการบ้าน" "ฉันเป็นหวัด" "ไก่ขัน" "นกร้องเพลง" คำกริยา แบ่งออกเป็น 4 ชนิด คือ

1.กริยาไม่ต้องมีกรรม(อกรรมกริยา)
คือ คำกริยาที่มีใจความสมบูรณืชัดเจนในตนเองไม่ต้องมีกรรมมารับข้างท้าย เช่น กระดาษปลิว สะพานชำรุด ดอกกุหลาบหอม ลมพัด ม้าวิ่ง มานีหัวเราะ ฝนตก เครื่องบินลง

2.กริยาที่ต้องมีกรรม(สกรรมกริยา)
คือ กริยาที่มีใจความไม่สมบูรณ์ขาดความชัดเจน จึงต้องมีกรรมมารับข้างท้าย เช่น "คุณแม่ทำขนมทุกวัน" "คุณตาปลูกผักสวนครัว" ฉันขลิบ...(ปลายเสื้อ) "คุณพ่อทำอาหาร" "ตำรวจจับผู้ร้าย" ฉันตัด...(ต้นไม้) "นกจิกข้าวโพด" "ฉันอ่านหนังสือ" "ครูชมลูกศิษย์" "สมใจเขียนจดหมาย"

3.กริยาที่อาศัยส่วนเติมเต็ม(วิกตรรถกริยา)
คือ กริยาที่ไม่มีความชัดเจน ขาดความหมายที่กระจ่างชัดในตัวเอง ดังนั้นจะใช้กริยาตามลำพังตัวเองไม่ได้จะต้องมีคำนามหรือสรรพนามมาขยายจึงจะ ได้ความ ได้แก่คำว่า คือ เป็น คล้าย เหมือน เท่า ประดุจ ราวกับ ฯลฯ เช่น "นายประชาเป็นตำรวจ" "คุณย่าเป็นครู" "ติ๋มคล้ายคุณย่า" "แมวคล้ายเสือ" "ฉันเหมือนคุณยาย" "เธอคือคนแปลกหน้าของที่นี่"

4.กริยาช่วย(กริยานุเคราะห์)
คือ คำที่ทำหน้าที่ช่วยกริยาอื่นให้ได้ใจความชัดเจนยิ่งขึ้น ได้แก่คำว่า อาจ ต้อง น่าจะ จะ คง คงต้อง คงจะ จง โปรด อย่า ช่วย แล้ว ถูก ได้รับ เคย ควร ให้ กำลัง ได้...แล้ว เคย...แล้ว น่าจะ...แล้ว ฯลฯ เช่น "ฝนอาจตก" "พี่คงกลับมาเร็วๆ นี้" "น้องต้องไปสอบแล้ว" "เด็กกำลังร้องไห้" "ขนมน่าจะสุกแล้ว" "นักเรียนควรส่งงานให้ตรงเวลา" "อย่ามาสายบ่อยๆ" "พี่ทำงานแล้ว" "เด็กๆ ควรดื่มนมก่อนนอน" "เขาเคยดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว"

คำวิเศษณ์

คำ วิเศษณ์ คือ คำที่ทำหน้าที่ประกอบคำอื่นๆ เพื่อให้ได้ใจความชัดเจนยิ่งขึ้น หรือคำที่ใช้ขยายคำนาม คำสรรพนาม คำกริยา และคำวิเศษณ์ เพื่อบอกเวลา บอกลักษณะ บอกจำนวน บอกขนาด บอกคุณภาพ บอกสถานที่ ฯลฯ อาจแบ่งได้ดังนี้


คำวิเศษณ์บอกลักษณะ "น้องคนเล็กชื่อเล็ก" "ถาดใบใหญ่ใส่ส้มผลเล็ก"

คำวิเศษณ์บอกเวลา "เขามาสายทุกวัน" "ไปเดี๋ยวนี้"

คำวิเศษณ์บอกสถานที่ "เขาเดินไกลออกไป" "เธอย้ายบ้านไปอยู่ทางเหนือ"

คำวิเศษณ์บอกปริมาณหรือจำนวน "ชนทั้งผอง พี่น้องกัน" "คนอ้วนมักกินจุ"

คำวิเศษณ์บอกความชี้เฉพาะ "อย่าพูดเช่นนั้นเลย" "บ้านนั้นทาสีสวย"

คำวิเศษณ์บอกความไม่ชี้เฉพาะ "คนอื่นไปกันหมดแล้ว" "สิ่งใดก็ไม่สำคัญเท่าความสามัคคี"

คำวิเศษณ์แสดงคำถาม "ประเทศอะไรมีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก" "น้องเธออายุเท่าไร"

คำวิเศษณ์แสดงคำขาน "หวานจ๋าไปเที่ยวไหมจ๊ะ" "คุณครูคะ กรุณาอธิบายช้าๆ หน่อยเถอะค่ะ"

คำวิเศษณ์แสดงความปฏิเสธ "คนที่ไม่รักชาติของตนเป็นคนที่คบไม่ได้" "บุญคุณของบุพการีประมาณมิได้"

คำ วิเศษณ์ขยายคำนาม "เด็กน้อยร้องไห้" (น้อย ขยาย เด็ก) "ปลาใหญ่กินปลาเล็ก" (ใหญ่-เล็ก ขยาย ปลา) "ฉันมีกระเป๋าใบโต" (โต ขยาย *กระเป๋า) "เด็กดีใครๆ ก็รัก" (ดี ขยาย เด็ก)

คำวิเศษณ์ขยายสรรพนาม "พวกเราทั้งหมดเลือกคุณ" (ทั้งหมด ขยาย พวกเรา) "ฉันเองเป็นคนทำ" (เอง ขยาย ฉัน) "ท่านทั้งหลายโปรดเงียบ" (ทั้งหลาย ขยาย ท่าน) "ใครเล่าจะล่วงรู้ได้" (เล่า ขยาย ใคร)

คำวิเศษณ์ขยายกริยา "ผู้ใหญ่บ้านตื่นแต่เช้า" (เช้า ขยาย ตื่น) "อย่ากินมูมมาม" (มูมมาม ขยาย กิน) "ฝนตกหนัก" (หนัก ขยาย ตก) "เขาดำน้ำทน" (ทน ขยาย ดำน้ำ)

คำวิเศษณ์ขยายวิเศษณ์ "ม้าวิ่งเร็วมาก" (มาก ขยาย เร็ว) "พายุพัดแรงมาก" (มาก ขยาย แรง) "เขาท่องหนังสือหนักมาก" (มาก ขยาย หนัก) "เธอร้องเพลงเพราะจริงๆ" (จริงๆ ขยาย เพราะ)


คำสันธาน

คำสันธาน คือ คำที่ใช้เชื่อมคำกับคำ ประโยคกับประโยค หรือข้อความกับข้อความ เมื่อเชื่อมแล้วจะได้ประโยคที่มีใจความดังนี้

๑.คำสันธานเชื่อมความคล้อยตามกัน
ได้แก่ และ กับ ถ้า ก็ แล้ว จึง ฯลฯ เช่น
"คุณพ่อและคุณแม่สอนการบ้านฉัน"
"ฉันสวดมนต์ไหว้พระแล้วจึงเข้านอน"
"ถ้าเขามีความสุข ฉันก็ยินดีด้วย"

๒.คำสันธานเชื่อมความขัดแย้งกัน
ได้แก่ แต่ กว่า ก็ ถึง...ก็ แม้ว่า...แต่ก็ ฯลฯ เช่น
"ถึงเขาจะโกรธฉันก็ไม่กลัว"
"เขาอยากมีเงิน แต่ไม่ทำงาน"
"รถไฟแม้ว่าจะช้า แต่ก็ปลอดภัย"

๓.คำสันธานเชื่อมความเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง
ได้แก่ หรือ มิฉะนั้น มิฉะนั้น...ก็ ไม่...ก็ ฯลฯ เช่น
"เธอจะไปหัวหินหรือพัทยา"
"ไม่เธอก็ฉันต้องไปกับคุณแม่"
"คุณต้องทำงานมิฉะนั้นจะไม่มีเงินใช้"

๔.คำสันธานเชื่อมความที่เป็นเหตุผลกัน
ได้แก่ เพราะ...จึง ดังนั้น...จึง จึง เพราะฉะนั้น...จึง ฯลฯ เช่น
"เพราะเขาขยันเขาจึงสอบได้"
"ฉันกินไม่ได้ดังนั้นฉันจึงผอม"
"หน้าแล้งใบไม้ร่วงเพราะฉะนั้นสนามจึงสกปรก"

คำบุพบท

คำ บุพบท คือ คำที่ใช้นำหน้าคำหรือกลุ่มคำหรือคือคำที่โยงคำหน้าหรือกลุ่มคำหนึ่งให้ สัมพันธ์กับคำอื่น หรือกลุ่มคำอื่นเพื่อบอกสถานที่ เหตุผล ลักษณะ เวลา อาการ หรือแสดงความเป็นเจ้าของ ได้แก่ ใน แก่ ของ ด้วย โดย กับ แต่ ต่อ ใกล้ ไกล ฯลฯ เช่น
เขาเดินทางโดยเครื่องบิน (ลักษณะ) ฉันซ่อนเงินไว้ใต้หมอน (สถานที่)
ครูต้องเสียสละเพื่อศิษย์ (เหตุผล) ฟันของน้องผุหลายซี่ (แสดงความเป็นเจ้าของ)
๑."กับ" ใช้แสดงอาการกระชับ อาการร่วม อาการกำกับกัน อาการเทียบกัน และแสดงระดับ เช่น
"ลุงไปกับป้า" (ร่วม) "ฉันเห็นกับตา" (กระชับ)
๒."แก่" ใช้นำหน้าคำที่เป็นฝ่ายรับอาการ เช่น
"คนไทยควรเห็นแก่ชาติ" "พ่อให้เงินแก่ลูก"
๓."แต่" ใช้ในความหมายว่า จาก ตั้งแต่ เฉพาะ เช่น
"ฉันจะกินแต่ผลไม้" "เขามาถึงโรงเรียนแต่เช้า"
๔."แด่" ใช้แทนคำว่า "แก่" ในที่เคารพ เช่น
"นักเรียนมอบดอกไม้แด่อาจารย์" "เขาถวายอาหารแด่พระสงฆ์"
๕."ต่อ" ใช้นำหน้าแสดงความเกี่ยวข้องกัน ติดต่อกัน เฉพาะ หน้าถัดไป เทียบจำนวน เช่น
"ฉันต้องรายงานต่อที่ประชุม" "เขายื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ"
๖."ด้วย" ใช้นำหน้าคำนามหรือคำสรรพนาม เพื่อบอกให้รู้ว่าเป็นเครื่องใช้ และใช้ประกอบคำกริยาแสดงว่าทำกริยาร่วมกัน เช่น
"ยายกินข้าวด้วยมือ" "ผมขอทานข้าวด้วยคนนะ"

คำอุทาน

คำ อุทาน คือ คำที่เปล่งออกมาเพื่อแสดงอารมณ์หรือความรู้สึกของผู้พูด มักจะเป็นคำที่ไม่มีความหมายแต่เน้นความรู้สึกและอารมณ์ของผู้พูดเป็นสำคัญ เช่น อนิจจา!ไม่น่าจะด่วนจากไปเลย (สลดใจ) อื้อฮือ! หล่อจัง (แปลกใจ) เสียงที่เปล่งออกมาเป็นคำอุทานนั้น แบ่งได้เป็น ๓ ลักษณะคือ ๑.เป็นคำ เช่น โอ๊ย! ว้าย! บ๊ะ! โอ้โฮ! โถ! ฯลฯ ๒.เป็นวลี เช่น พุทโธ่เอ๋ย! คุณพระช่วย! ตายละวา! โอ้อนิจจา! ฯลฯ ๓.เป็นประโยค เช่น คุณพระคุณเจ้าช่วยลูกด้วย! ไฟไหม้เจ้าข้า! ฯลฯ คำอุทาน แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ

๑.อุทานบอกอาการ
ใช้เปล่งเสียงเพื่อบอกอาการและความรู้สึกต่างๆ ของผู้พูด เช่น

โกรธเคือง เช่น ชิชะ! ชะๆ! ดูดู๋! เหม่! ฯลฯ
ตกใจ ประหลาดใจ เช่น โอ้โฮ! ตายจริง! คุณพระช่วย! ว้าย! ฯลฯ
เจ็บปวด เช่น โอ๊ย! อุ๊ย! โอย! ฯลฯ
ประหม่า เก้อเขิน เช่น เอ้อ! อ้า! ฯลฯ

๒.อุทานเสริมบท
คือ คำพูดที่เสริมขึ้นมาโดยไม่มีความหมาย อาจอยู่หน้าคำ หลังคำหรือแทรกกลางคำเพื่อเน้นความหมายของคำที่จะพูดให้ชัดเจนขึ้น เช่น กินน้ำกินท่า ลืมหูลืมตา กระป๋งกระเป๋า ถ้าคำที่นำมาเข้าคู่กันมีเนื้อความหรือความหมายไปในแนวเดียวกัน ไม่นับว่าเป็นคำอุทานเสริมบท เช่น ไม่ดูไม่แล ไม่หลับไม่นอน ร้องรำทำเพลง คำเหล่านี้เรียกว่า คำซ้อน ในคำประพันธ์ประเภทโคลงและร่าย มีการใช้คำสร้อย ซึ่งนับว่าเป็นคำอุทานเสริมบทได้ เช่น เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย ฯลฯ
UploadImage

วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

ประวัติภาษาไทย

ประวัติภาษาไทย

ภาษาไทย เป็นภาษาทางการของประเทศไทย และภาษาแม่ของชาวไทย และชนเชื้อสายอื่นในประเทศไทย ภาษาไทยเป็นภาษาในกลุ่มภาษาไต ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของตระกูลภาษาไท-กะได สันนิษฐานว่า ภาษาในตระกูลนี้มีถิ่นกำเนิดจากทางตอนใต้ของประเทศจีน และนักภาษาศาสตร์บางท่านเสนอว่า ภาษาไทยน่าจะมีความเชื่อมโยงกับ ตระกูลภาษาออสโตร-เอเชียติก ตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน ตระกูลภาษาจีน-ทิเบต
ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีระดับเสียงของคำแน่นอนหรือวรรณยุกต์เช่นเดียวกับภาษาจีน และออกเสียงแยกคำต่อคำ เป็นที่ลำบากของชาวต่างชาติเนื่องจาก การออกเสียงวรรณยุกต์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคำ และการสะกดคำที่ซับซ้อน นอกจากภาษากลางแล้ว ในประเทศไทยมีการใช้ ภาษาไทยถิ่นอื่นด้วย
ที่มาของภาษาไทย
คำว่า ไทย หมายความว่า อิสรภาพ เสรีภาพ หรืออีกความหมายหนึ่งคือ ใหญ่ ยิ่งใหญ่ เพราะการจะเป็นอิสระได้จะต้องมีกำลังที่มากกว่า แข็งแกร่งกว่า เพื่อป้องกันการรุกรานจากข้าศึก แม้คำนี้จะมีรูปเหมือนคำยืมจากภาษาบาลีสันสกฤต แต่แท้ที่จริงแล้ว คำนี้เป็นคำไทยแท้ที่เกิดจากกระบวนการสร้างคำที่เรียกว่า ‘การลากคำเข้าวัด’ ซึ่งเป็นการลากความวิธีหนึ่ง ตามหลักคติชนวิทยา คนไทยเป็นชนชาติที่นับถือกันว่า ภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาที่บันทึกพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นภาษาอันศักดิ์สิทธิ์และเป็นมงคล เมื่อคนไทยต้องการตั้งชื่อประเทศว่า ไท ซึ่งเป็นคำไทยแท้ จึงเติมตัว  เข้าไปข้างท้าย เพื่อให้มีลักษณะคล้ายคำในภาษาบาลีสันสกฤตเพื่อความเป็นมงคลตามความเชื่อของ ตน ภาษาไทยจึงหมายถึงภาษาของชนชาติไทยผู้เป็นไทนั่นเอง


วิวัฒนาการของภาษาไทย
  • ภาษาไทยมีวิวัฒนาการเป็น ๒ สมัย คือ ภาษาไทยแท้ หรือภาษาไทยดั้งเดิม และภาษาไทยปัจจุบันหรือภาษาไทยประสม ภาษาไทยแท้ หรือ ภาษาไทยดั้งเดิม เป็นภาษาไทยก่อน อพยพเข้ามาอยู่ในสุวรรณภูมิ หรือ แหลมทอง
  • ภาษาไทยปัจจุบัน หรือ ภาษาไทยประสม คือ ภาษาไทยนับตั้งแต่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในสุวรรณภูมิแล้ว
ลักษณะของภาษาไทย
ลักษณะภาษาไทยแท้

ภาษาไทยแท้เป็นภาษาดั้งเดิมประจำชาติไทย  นับถอยหลังตั้งแต่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศจีน ปัจจุบันขึ้นไปเป็นภาษาในระยะที่ยังไม่ได้ เกี่ยวข้องกับชาติอื่นมากนัก ภาษาไทยมีลักษณะดังนี้
  1. คำส่วนมากเป็นคำโดด คือ คำพยางค์เดียว เช่น พ่อ แม่ มือ แขน ช้าง ม้า ฯลฯ
  2. ไม่ค่อยมีคำควบกล้ำ
  3. คำขยาย อยู่ข้างหลังคำที่ถูกขยาย เช่น บ้านใหญ่    พูดมาก ดียิ่ง  คำที่เขียนตัวหนาเป็นคำขยาย
  4. ถ้าต้องการ สร้าง คำใหม่ ใช้วิธีรวมคำมูลเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดคำประสมขึ้น เช่น โรงเรียน แม่น้ำ พ่อตา
  5. ในการเขียน ใช้ตัวสะกดตรงตามมาตราแม่ กก ใช้ ก สะกด  แม่ กน ใช้ น สะกด แม่ กบ ใช้ บ สะกด เช่น นก กิน กบ
  6. ในการเขียน ไม่ใช้ตัวการันต์ คำทุกคำอ่านออกเสียงได้หมดทุกพยางค์
  7. ไม่มีหลักไวยกรณ์ คือ ระเบียบของภาษาแน่นอนเหมือนภาษาของบางชาติ เช่น บาลี สันสกฤต และอังกฤษ เป็นต้น กล่าวคือ ไม่มีระเบียบพิเศษเกี่ยวกับ พจน์ เพศ วิภัตติ ปัจจัย อุปสรรค กาล มาลา วาจก
  8. เป็นภาษามีเสียงดนตรี นิยมใช้ไม้วรรณยุกต์กำกับเสียง
ลักษณะภาษาไทยปัจจุบันเป็นภาษาไทยเริ่มตั้งแต่คนไทยย้ายถิ่นฐานลงมาอยู่ในแหลมทอง ซึ่งเป็นที่ตั้งประเทศไทยทุกวันนี้ เมื่อไทยเข้ามาอยู่ในดินแดนแถบนี้ได้เกี่ยวข้องกับชนหลายชาติหลายภาษา ซึ่งมีระเบียบภาษาแตกต่างไปจากไทย ภาษาของต่างชาติที่เข้ามามีอิทธิพลเหนือภาษาไทยปัจจุบัน คือ บาลี สันสกฤต เขมร ชวา มอญ จีน พม่า มลายู เปอร์เซีย และภาษาของชาติยุโรปบางภาษา เช่น โปรตุเกส และอังกฤษ เป็นต้น เมื่อภาษาไทยต้องเกี่ยวข้องกับภาษาของต่างชาติดังกล่าว ประกอบกับสถานะทางภูมิศาสตร์และเหตุการณ์ทางสังคมเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา ภาษาไทยปัจจุบันจึงมีลักษณะผิดเพี้ยนไปจากเดิมมากคือ มีลักษณะพิเศษเพิ่มขึ้นจากภาษาไทยแท้ดังนี้
  1. มีคำหลายพยางค์เพิ่มขึ้น
  2. มีคำควบกล้ำมากขึ้น
  3. มีการสร้างคำใหม่ตามวิธีการสมาส และสนธิของภาษาบาลีและสันสกฤต และตามวิธีแผลงคำตามอย่างภาษาเขมร
  4. ใช้ตัวสะกดไม่ค่อยตรงตามมาตรา ตามอย่างภาษาอื่น เช่น แม่ กก ใช้ ข ค ฆ สะกด แม่ กน ใช้ ญ ณ ร ล ฬ สะกด  แม่ กด ใช้ จ ช ฎ ฏ ฐ ฒ ต ถ ท ธ สะกดเพิ่มขึ้น
  5. มีตัวการัตน์เพิ่มขึ้น